ถนนเลียบชายหาดเฉวง บนเกาะสมุย ในเย็นวันพุธของเดือนกรกฏาคม ดูวังเวง ร้านค้าไม่ถึง 10 แห่งเปิดให้บริการในพื้นที่ที่เคยได้รับควานิยมมากที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวบนเกาะนี้
ป้าย “ขาย” “ให้เช่า” หรือ “เลิกกิจการ” พบเห็นได้บนประตูที่ปิดตายของธุรกิจหลากประเภภท ตั้งแต่โรงแรม บริษัททัวร์ ไปจนถึง ร้านขายยา ส่วนร้านค้าที่เปิดอยู่นั้น จำนวนพนักงานมีมากกว่าลูกค้าในสัดส่วน 10 ต่อ 1
หลังรัฐบาลประกาศ “ปิดประเทศ” เมื่อ ปลายเดือนมีนาคม ธุรกิจของสมัยก็ค่อย ๆ ซึมลงหมดเรี่ยวแรง และหมดลมหายใจไปแล้วนับร้อยราย สถานะการเป็นสววรค์กลางอ่าวไทยมาได้กว่า 30 ปี ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านต่อปี ก็กลายเป็นเกาะเกือบร้าง
กระตุ้นท่องเที่ยว 2 หมื่นล้าน เพียงพอกับรายได้ 2 ล้านล้านที่สูญไปหรือไม่
กลุ่ม CARE ปลุก “ก้าวข้ามความกลัว” อาสาพาประเทศไทย “ออกจากห้องฉุกเฉิน” หลังเผชิญ 3 กับดักในวิกฤตโควิด-19
เที่ยวปันสุข แบบอังกฤษ ลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 5% ช่วยโรงแรม ร้านอาหาร โรงหนัง สวนสัตว์ สวนสนุก
ในขณะที่การกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทยจะช่วยให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่กิจกรรมนั้นก็ทำได้เพียงแค่ช่วยเหลือให้พนักงานพอมีรายได้ประทังชีวิตได้เท่านั้น และด้วยพื้นที่เกาะสมุยเป็นพื้นที่แบบปิดประกอบกับค่าเดินทางที่ราคาสูงและไม่สะดวกอาจทำให้ดินแดนสวรรค์แห่งนี้อาจจะฟื้นตัวไม่ได้ด้วยนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วยกันเอง
ถนนเรียบชายหาดเฉวงเคยเป็นถนนเส้นที่มีนักท่องเที่ยวสัญจรไปมาทั้งกลางวันและกลางคืนแต่ในวันนี้กลับไร้ผู้คน
“ในภาวะปกติ ช่วงเย็น ๆ ก็มีคนเดินเต็มสองข้างทางแล้ว โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เป็นฤดุท่องเที่ยวของสมุย จะเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวจากยุโรปเดินทางเข้ามาเยอะ ถนนก็จะเริ่มแน่นยาวไปจะถึงช่วงดึกเลย” พรรณวริณทร์ มาลีพันธ์ เจ้าของร้านนวด V Care Spa บนถนนเลียบชายหาดเฉวงกล่าวกับบีบีซีไทย
“ถนนเส้นนี้…เป็นหนึ่งในจุดที่รถติดมากที่สุดในสมุย แถวนี้จะมีแต่เสียงรถวิ่งขวักไขว่ไปมาตลอดทั้งวัน แต่ตอนนี้ร้างเลย”
ปิดประเทศ ทำ สมุย “ร้าง”
เมื่อลูกค้าหาย รายได้ไม่เข้า หลายธุรกิจเลือกปิดกิจการ เลิกสัญญาเช่าร้านกลางคัน ปลดพนักงาน คนต่างถิ่นเลิกเช่าบ้าน ขนของกลับภูมิลำเนาเดิม แต่พรรณวริณทร์ยังสู้
พรรณวริณทร์ มาลีพันธ์ เจ้าของร้านนวด V Care Spa เป็นหนึ่งในเจ้าของธุรกิจย่านชายหาดเฉวงที่กลับมาเปิดร้านทั้ง ๆ ที่ไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการ
การระบาดของโรคโควิด-19 กระทบธุรกิจร้านนวดของพรรณวริณทร์ ตั้งแต่ ก.พ. จนถึงขั้นรุนแรงจนต้องปิดตัวชั่วคราวหลังไทยปิดจราจรทางอากาศเมื่อปลาย มี.ค.
พรรณวริณทร์ กลับมาเปิดธุรกิจอีกทีเมื่อ 1 ก.ค. หลังรัฐบาลทยอยคลายล็อกดาวน์ แต่สถานการณ์ของร้านยังไม่ดีขึ้นนัก ต้องอาศัยลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย
“เหตุผลที่เลือกมาเปิดตอนนี้ทั้งทั้งที่รู้ว่าไม่มีลูกค้าเลย เพราะอยากให้พนักงานมีรายได้บ้างดีกว่านั่งอยู่เฉย ๆ พนักงานที่นี่มาจากพื้นที่อื่นเยอะและพวกเขาก็ลากลับบ้านไปแบบไม่มีกำหนดและแจ้งว่าจะกลับมาทำงานเมื่อเหตุการณ์ปกติเพราะสู้ค่าเช่าบ้านไม่ไหว” พรรณวริณทร์อธิบาย และเสริมว่า วิกฤตในขณะนี้ถือว่า “หนักที่สุด” ตลอดการเปิดร้านนวดมา 6 ปี
เริ่มต้นดี
วรสิทธิ์ ผ่องคำพันธุ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า
โดยปกติ เกาะสมุยทำเงินจากการท่องเที่ยวได้มากที่สุดในช่วง ม.ค.-เม.ย. และอีกช่วงคือ ก.ค.-ก.ย. มีระยะเวลาในการเข้าพักอาศัยประมาณ 7-10 วัน ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันไม่ต่ำ กว่า 100 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ
แม้ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 นอกประเทศจีน เมื่อต้นเดือน ม.ค. วรสิทธิ์บอกว่าการท่องเที่ยวของสมุยกลับคึกคักด้วยนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่เข้ามามากกว่าปกติในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ จนกระทั่งคำสั่งปิดสนามบินเมื่อ 24 มี.ค.
วรสิทธิ์ ผ่องคำพันธุ์ กล่าวว่าเกาะสมุยได้รับผลกระทบหนักเพราะต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 95%
หลังคำสั่งปิดสนามบิน รายได้ของเกาะสมุยมาจากนักท่องเที่ยวที่ติดค้างอยู่ ทยอยลดลงไปเหลือไม่ถึง 20% เท่านั้น ส่วนยอดจองโรงแรมช่วงเทศกาลอีสเตอร์ที่มีมากถึง 60-70% ของผู้เข้าพักช่วง เม.ย. ถูกยกเลิกไปทั้งหมด จนกระทั่งหลัง 7 เม.ย. ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีสั่งปิดสนามบินสมุยและมีมาตรการคัดกรองคนเข้าออกบริเวณเกาะอย่างเข้มงวด รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติก็กลายเป็น 0%
“พูดได้เลยว่าธุรกิจการท่องเที่ยวสมุยได้รับผลกระทบมากที่สุดในประเทศไทยเป็นอันดับต้น ๆ เพราะเราพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากถึง 95%”
เศรษฐกิจสิงคโปร์-สหราชอาณาจักร ทรุดหนัก หลายเมืองทั่วโลกล็อกดาวน์รอบใหม่
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังวิกฤตไวรัสโคโรนาจะเป็นอย่างไร
ไอเอ็มเอฟ คาดวิกฤตไวรัสโคโรนาระบาดจะทำเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ในรอบเกือบ 100 ปี
แม้รัฐบาลหันมาส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวในประเทศมากขึ้น วรสิทธิ์ มองว่า นักท่องเที่ยวไทยมาช่วยในส่วนของค่าแรงของพนักงานในภาคต่าง ๆ ของการท่องเที่ยวได้ส่วนหนึ่ง เพราะนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางเข้ามาพำนักแค่ 1-2 คืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันหยุดสุดสัปดาห์
หลัง 1 มิ.ย. รัฐบาลอนุญาตให้มีการบินในประเทศ และเพิ่มจำนวนเรือเฟอร์รี่จาก 10-12 เที่ยวต่อวัน เป็น 15-17 เที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ราววันละ 2,000 คน เทียบกับช่วงปกติ คือ วันละ 3,500 คนและช่วงไฮซีซั่น ที่วันละ 5,000 คน
ผลกระทบธุรกิจท่องเที่ยวทั้งประเทศ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวกับบีบีซีไทยว่า หากรัฐบาลยังยืนกรานนโยบาย “ปิดประเทศ” เพื่อให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ โควิด-19 เป็นศูนย์ ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะเป็นศูนย์ตามไปด้วย ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติภายในประเทศ (จีดีพี) ก็จะหายไป 12-15% ทันที ส่งผลกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 6-7 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อย (เอสเอ็มอี) ที่เสี่ยง “ล้มทั้งยืน”
รัฐบาลเห็นถึงปัญหานี้ จึงเปิดโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ตั้งแต่ 15 ก.ค. ชวนคนไทยลงทะเบียนรับส่วนลดโรงแรมต่าง ๆ ทั่วประเทศและสายการบินภายในประเทศเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวของคนไทย
กระทรวงการคลังประเมินว่ามาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท และส่งผลให้จีดีพีมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2-0.3% จากที่หลายสำนักพยากรณ์ทางเศรษฐกิจเคยคาดการณ์ไว้ว่าจีดีพีปีนี้มีโอกาสติดลบตั้งแต่ 5-10%
แต่นักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนและและหน่วยขับเคลื่อนนโยบายเห็นตรงกันว่าตลาด “ไทยเที่ยวไทย” ไม่อาจทดแทนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้ และหากยังไม่มีการเปิดประเทศ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมราว 20% เสี่ยงต้องปิดกิจการ
ข้อมูลจากสมาคมโรงแรมไทยระบุว่า โรงแรม 90% ได้ประกาศ “ปิดชั่วคราว” ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ส่งผลกระทบต่อแรงงานในระบบที่มีอยู่ 1.6-1.8 ล้านคน กระทั่งเดือน ก.ค. จึงทยอยกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่ถึงกระนั้นก็มีผู้ประกอบการราว 30-40% ที่ยังคงปิดให้บริการ และคาดการณ์ว่าโรงแรมไม่ต่ำกว่า 20% ต้อง “ปิดถาวร” เพราะไม่อาจแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และการแข่งขันสูงเพื่อช่วงชิงลูกค้า
“ถ้าไม่มีการผ่อนคลาย หรือมาตรการชัดเจนผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาบ้าง เชื่อว่าโรงแรมต้องปิดถาวรไปเลยอีกจำนวนหนึ่ง เพราะเปิดมา รายได้ก็ไม่ครอบคลุมกับรายจ่าย ก็คือขาดทุน แล้วเราจะทนขาดทุนไปได้อีกกี่เดือน” นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย ระบุ
ในส่วนของพื้นที่ปิดอย่างเกาะสมุย ความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจน่าจะเห็นได้ชัดกว่าเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ โดยนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุยมองว่าเกาะสมุย “เสียหายหนัก”
อย่างน้อยปีหน้ากว่าจะฟื้น
วรสิทธิ์บอกว่าเขาได้เห็นผลสำรวจจากตัวแทนบริษัททัวร์ 44 แห่ง ที่อังกฤษและผลออกมาว่า 17% ของคนยุโรปจะเริ่มเดินทางหากสถานการณ์กลับสู่ปรกติในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าที่ และ 42% จะเริ่มเดินทางกันเยอะขึ้นจริง ๆ ช่วงปลายปีหน้า
“มีโอกาสทีไรก็อยากจะกระซิบบอกกับทางรัฐบาลว่า สมุยนั้นศักยภาพแตกต่างจากสถานที่ท่องเที่ยวที่อื่น เพราะเราพึ่งนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ 95%” วรสิทธิ์กล่าว
คิดใหม่ทำใหม่ เจาะกลุ่มคนไทยมากขึ้น
วรสิทธิ์บอกว่าเกาะสมุยถือว่ามีทั้งโชคดีและโชคร้ายที่มีสนามบินที่บริหารโดยเอกชน เพราะตอนนี้ทุกคนเดือดร้อนกันหมด และการนั่งจับเข่าคุยกันกับทุกฝ่ายเพื่อปรับกลยุทธ์ในการดึงนักท่องเที่ยวไทยเข้ามาน่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีที่สุด ณ เวลานี้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าเดินทางโดยเรื่อเฟอร์รี่ ค่าเดินทางผ่านสนามบิน ผู้ประกอบการต่างก็จัดโปรโมชั่นให้คนไทยได้เดินทางมาเกาะสมุยได้ง่ายขึ้น
“ถึงแม้จะมียอดจองได้ตามเป้าแล้ว แต่นักท่องเที่ยวไทยก็ยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจของเกาะสมุยฟื้นฟูได้เท่าเดิม คาดว่าน่าจะได้ไม่เกิน 10% จากนักท่องเที่ยวชาวไทย คงน่าจะอาศัยเวลาในการบูรณะการท่องเที่ยวให้กลับมาเหมือนเดิม นักท่องเที่ยวไทยไม่สามารถฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้แน่นอน แต่อย่างน้อยก็ยังกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้”
“เราต้องปรับความคิดใหม่ของคนทุกคน อยากจะให้ทุกคนเข้าใจว่าเกาะสมุยยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน ไม่ใช่เฉพาะชาวต่างชาติ แต่ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมียอดจองที่เกือบเต็มตลอดทั้งปี ทำให้นักท่องเที่ยวไทยที่วางแผนท่องเที่ยวในวินาทีสุดท้ายไม่ได้ห้องพักตามช่วงเวลาที่ต้องการ หลังจากปรับกลยุทธ์ เราคาดการณ์ว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้ามาถึง 20% จนถึงสิ้นปี” วรสิทธิ์กล่าว
ตอนนี้ทางสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุยได้รับการร้องเรียนมาจากกลุ่มมัคคุเทศก์และบริษัททัวร์เล็ก ๆ ที่เดือดร้อนแสนสาหัสเพราะตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยว และไม่มีรายได้
“ตอนนี้ทุกคนไม่มีงานทำเลย ผมอยากจะขอให้รัฐบาลช่วยพิจารณานิดนึงว่าสถานที่ที่เคยมีชื่อเสียงติดอันดับ 9 ของโลกกำลังเดือดร้อนมาก อยากให้ช่วยการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ต่าง ๆ เราได้ปีหนึ่ง 50,000 ล้านที่เกาะสมุย อยากให้ช่วยซัก 10% ก็ยังดี ขอให้ภาครัฐหันมามองและให้ความช่วยเหลือ” วรสิทธิ์อธิบาย
ขอขอบคุณเรื่องโดย ชัยยศ ยงค์เจริญชัย ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย