ขั้นตอนการสรงน้ำพระ รับเทศกาลสงกรานต์ 2566
การสรงน้ำพระ ขนบธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติมาอย่างยาวนาน แท้จริงแล้วแฝงอานิสงส์อะไรอยู่ และทำไมต้องทำ พร้อมเปิดขั้นตอนการสรงน้ำพระแบบละเอียด
สงกรานต์ คือ การเคลื่อนขึ้นของปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันกำหนดวันเวลาอยู่ในช่วงวันที่ ๑๓ , ๑๔ , ๑๕ เมษายน ของทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ ส่วนวันที่ ๑๔ เป็นวันเนา และวันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีพิธีสำคัญตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย นั่นคือ “การสรงน้ำพระ” แม้จะเป็นสิ่งที่ทำสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน แต่ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่า แล้วขั้นตอนการสรงน้ำพระที่ถูกต้อง ต้องทำอย่างไร?
ทำไมต้องสรงน้ำพระ?
ตามความเชื่อโบราณ การสรงน้ำพระเป็นการแสดงให้เห็นถึง การเคารพและสักการะต่อ พระพุทธศาสนาครบทั้ง 3 ประการ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นการเริ่มต้นสิ่งที่เป็นมงคลในวันปีใหม่ด้วย จะทำให้เกิดความสุขความร่มเย็นตลอดปีใหม่ ขณะเดียวกัน ยังมีความเชื่อว่า การสรงน้ำพระพุทธรูปเป็นการทำความสะอาดพระที่ตลอดทั้งปีเราได้กราบไหว้ ขณะที่การสรงน้ำพระสงฆ์เป็นการช่วยให้ท่านเย็นสบายในช่วงฤดูร้อนที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของปีด้วย
อานิสงค์ตามความเชื่อหลังการสรงน้ำพระ
ผลบุญจะส่งผลให้เราปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและมีความสุข จิตใจผ่องใส สดชื่น สะอาด บริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน ทำให้อยู่เย็นเป็นสุข เป็นมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว รวมถึงแผ่ผลบุญให้บรรพบุรุษ ญาติมิตร สรรพสัตว์และเจ้ากรรมนายเวรได้อีกด้วย
การสรงน้ำ เนื่องในประเพณีสงกรานต์ยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต โดยจะทำการสรงน้ำพระพุทธรูปก่อน แล้วจึงสรงน้ำพระสงฆ์ภายหลัง รวมทั้งมีการก่อพระเจดีย์ทราย และทำบุญทำทานเพื่อความเป็นสิริมงคล ย้อนกลับไปในสมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์จะเสด็จฯ ไปสรงน้ำพระพุทธปฏิมากรพระศรีสรรเพชญ์ และเทวรูปพระพิฆเนศวร จากนั้นจะโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะเข้ามาสรงน้ำในพระราชวัง ส่วนชาวบ้านทั่วไปก็พากันไปสรงน้ำพระตามวัดต่าง ๆ การสรงน้ำพระนั้นต้องเตรียมน้ำอบไทย เครื่องหอม ผ้าอาบหรือสบงแล้วแต่ศรัทธา เมื่อสรงน้ำพระแล้วก็ถวายของ
การสรงน้ำพระ มี 2 แบบ คือ
1) การสรงน้ำพระพุทธรูป
2) การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร
ขั้นตอนการสรงน้ำพระ
1. การสรงน้ำพระพุทธรูป
1.1 สวดบทขอขมา (ก่อนการเคลื่อนย้ายองค์พระ)
ตั้งนะโมฯ 3 จบ ตามด้วย “ระตะนัตตะเย ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต”
ซึ่งมีคำแปลว่า กายกรรม 3 วจีกรรม 4 มโนกรรม 3 ที่ข้าพเจ้าได้ประมาทพลาดพลั้งในพระรัตนตรัย ด้วยความตั้งใจก็ดี ไม่ตั้งใจก็ดี ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ขอพระรัตนตรัยได้โปรดยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด
1.2 ทำความสะอาดองค์พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนนำมาสรงน้ำ
เนื่องจากพระเป็นของสูงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แน่นอนว่าสิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้ต้องเป็นของใหม่ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย
– ขั้นตอนแรกให้ใช้แอลกอฮอล์ชโลมเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อน แล้วจึงสรงด้วยน้ำอุ่น โดยใช้สำลีชุบน้ำอุ่น ลูบไล้ตามซอกต่าง ๆ ให้ทั่ว แล้วนำไปผึ่งลม
– ให้ใช้คอตตอนบัดลูบเบา ๆ หมั่นปัดในซอกลึก ๆ ฝุ่นละอองจะหมดไป วิธีนี้เหมาะสำหรับพระที่จะเก็บเข้ากล่องนาน ๆ
– การขัดพระ ล้างพระ ควรทำด้วยความระมัดระวัง การใช้กรดอย่างอ่อน เช่น มะนาว และมะขาม
1.3 เตรียมน้ำอบสำหรับสรงน้ำพระ
ให้เตรียมน้ำสะอาดใส่ขันใบใหญ่ ใส่เครื่องหอมลงไป เช่น น้ำหอม น้ำอบ น้ำปรุง และดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม มีสีสันสวยงาม เช่น ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ และดอกดาวเรือง เป็นต้น และเตรียมขันใบเล็กไว้สำหรับตักน้ำสรงองค์พระ
1.4 จัดเรียงองค์พระและประดับโต๊ะด้วยดอกไม้
เมื่อทำความสะอาดเสร็จให้นำองค์พระจัดเรียงไว้บนโต๊ะเพื่อเตรียมทำการสรงน้ำ แต่ก่อนจะทำองค์พระวางที่โต๊ะต้องรองด้วยผ้าขาวบางเสียก่อนเพื่อความสะอาดและประดับตกแต่งโต๊ะด้วยดอกไม้หรือกลีบดอกไม้โรยให้สวยงาม
1.5 คำกล่าวระหว่างสรงน้ำพระ
ให้ตั้งนะโม ๓ จบ ตามด้วย “อิมินา สิญฺจะเนเนวะ โรโค โสโก อุปัทวะโท นิพพันตุ สัพพะโส เอเต สุขี โหนตุ นิรันตะรัง”
ขอสรงน้ำเพื่อให้ทุกข์โศกโรคภัยต่าง ๆ อันตรธานหายไป หลังจากนั้นจึงขอพรพระท่าน
1.6 ย้ายองค์พระกลับสู่โต๊ะหมู่บูชา
หลังเสร็จพิธีทุกคนในบ้านรดน้ำครบแล้ว ก็ได้เวลาย้ายท่านกลับไปที่โต๊ะหมู่บูชาดังเดิม แต่ก็อย่าลืมทำความสะอาดโต๊ะเดิมก่อน แล้วเปลี่ยนผ้ารองฐานที่โต๊ะใหม่ทุกครั้ง แล้วจึงน้ำท่านกลับไปวางที่จุดเดิม ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี แต่อย่างไรก็ดีชาวพุทธเองก็ควรไหว้ท่านทุกวันพระเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไปในทุกวัน
2. การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร
2.1 จะใช้แบบเดียวกับอาบน้ำ คือ การใช้ขันตักรดที่ตัวท่าน หรือที่ฝ่ามือก็ได้ แล้วแต่ความนิยม
2.2 หากเป็นการสรงน้ำแบบอาบน้ำพระ จะมีการถวายผ้าสบงหรือถวายผ้าไตรตามแต่ศรัทธาด้วย
เมื่อทำพิธีสรงน้ำเรียบร้อยแล้ว ควรปฏิบัติตนไปในทางที่ดี คิดดี ทำดี พูดดี เพื่อทวีคูณอนิสงค์ผลบุญ คุณความดีที่จะเกิดกับตนเองในภายภาคหน้า และเพื่อเป็นการเริ่มต้นสิ่งดี ๆ ในวันมหามงคลปีใหม่ของไทย