รู้หรือไม่? ผ้าเบรครถมอเตอร์ไซค์มีกี่ประเภท???
ไบค์เกอร์กับการแต่งรถมอเตอร์ไซค์เป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร หลายคนแต่งรถมอเตอร์ไซค์เพื่ออัปเกรดสมรรถนะ เพื่อเพิ่มความเร็ว ความแรง ทั้งเพื่อใช้แข่งขันในสนามและแต่งมาใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ว่าจะแต่งรถมอเตอร์ไซค์ด้วยวัตถุประสงค์อะไร สิ่งหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้ก็คือเรื่องระบบเบรกซึ่งเป็นตัวช่วยในการหยุดรถเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัย
ระบบเบรกมอเตอร์ไซค์ มีหลายส่วนประกอบทำงานร่วมกัน ถ้าไล่จากบนลงล่างก็จะมีตั้งแต่ กระบอกแม่ปั๊มเบรก ที่จะเปลี่ยนแรงกลเป็นแรงดันไฮดรอลิกผ่านสายท่อต่างๆ ไปยังคาลิเปอร์เบรกโดยมีน้ำมันเบรกถูกสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆ ของระบบเบรก รวมถึงผ้าเบรคซึ่งรับแรงดันมาจากลูกสูบของคาลิเปอร์และจะจับกับจานเบรกที่อยู่ติดกับล้อเพื่อสร้างแรงเสียดทานและทำให้ความเร็วลดลงจนถึงหยุดนิ่ง
สำหรับชิ้นส่วนที่เราจะพูดถึงวันนี้ ขอโฟกัสไปที่ “ผ้าเบรค” ซึ่งมีหลายประเภทมากกว่าที่หลายคนรู้ แต่ละประเภทก็จะเหมาะกับรถมอเตอร์ไซค์ที่แตกต่างกันไป เพื่อให้ทุกคนรู้จักและเลือกใช้ผ้าเบรคได้เหมาะกับมอเตอร์ไซค์ของตัวเอง วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับผ้าเบรครถมอเตอร์ไซค์กันว่ามีทั้งหมดกี่ประเภท
และแต่ละประเภททำมาจากวัสดุอะไรบ้าง
ผ้าเบรคแบบซินเทอร์ (Sintered Brake Pads)
ผ้าเบรคแบบซินเทอร์ เป็นผ้าเบรกประเภทโลหะ (Metallic Type) ผลิตจากผงโลหะละเอียดหลายชนิดที่ถูกนำมาหลอมรวมกันด้วยความร้อนและนำมาขึ้นรูปด้วยเทคนิคซินเทอร์ริง (Sintering) หรือการอัดขึ้นรูปด้วยแรงดันสูงและอุณหภูมิสูงปานกลาง ใครเป็นไบค์เกอร์สายแข่งอาจจะคุ้นเคยกับผ้าเบรคซินเทอร์ดีอยู่แล้ว
เพราะเป็นผ้าเบรคชนิดที่เหมาะกับรถแข่งและได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ครอบคลุมการใช้งานในทุกสภาวะ ไม่ว่าจะเจอแดด เจอฝน มีจุดเด่นตรงที่สามารถทำงานได้ดีทั้งในอุณหภูมิต่ำและสูง เพิ่มอุณภูมิได้เร็ว ทนความร้อนได้สูง คลายความร้อนเร็ว ทั้งยังมีเสถียรภาพสูงด้วย ส่วนจุดด้อยหลักๆ ของผ้าเบรคชนิดนี้ก็คือ
ทำให้จานเบรกสึกหรอเร็วตามไปด้วย
ผ้าเบรคแบบออร์แกนิก (Organic Brake pads)
ผ้าเบรคแบบออร์แกนิก เป็นผ้าเบรกประเภทอินทรีย์ ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์เนื้ออินทรีย์ ใยเหล็ก และโลหะ ผสมกับน้ำมันหล่อลื่นกราไฟต์แล้วเติมสารเพิ่มแรงเสียดทาน สามารถแบ่งตามเนื้อผ้าเบรคได้อีก 4 ประเภท ตามสัดส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ได้แก่ เนื้อใยหิน (ปัจจุบันผู้ผลิตผ้าเบรคระดับสากลได้ยกเลิกการผลิตไปแล้ว
เนื่องจากมีสารก่อมะเร็ง) เนื้ออินทรีย์, เนื้อโลหะต่ำ และเนื้อกึ่งโลหะ
ข้อดีของผ้าเบรกออร์แกนิกก็คือ เรื่องของราคาที่มีตั้งแต่ราคาต่ำไปจนถึงปานกลาง ไม่ทำให้จานเบรกสึกหรอ หรือ กินจาน เพราะใช้วัสดุที่อ่อนนิ่มกว่า ทำงานได้ดีตั้งแต่ขณะที่ผ้าเบรคอุณหภูมิไม่สูง จนกระทั่งไล่ระดับไปสูง ระบายความร้อนได้ดี ระยะเบรคสั้น ส่วนข้อเสียคือผ้าเบรคจะสึกเร็วกว่าแบบอื่น จึงเป็นผ้าเบรคที่เหมาะกับมอเตอร์ไซค์ที่ใช้งานทั่วไป
ผ้าเบรคแบบเซรามิก (Ceramic Brake Pads)
ผ้าเบรคแบบเซรามิค เป็นผ้าเบรคประเภทอนินทรีย์ (Inorganic Type) ผลิตจากเซรามิกคล้ายกับที่ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผาแต่มีความหนาแน่นและทนทานกว่ามากผสมกับใยเหล็ก ผ้าเบรคชนิดนี้คุณสมบัติเด่นๆ จะอยู่กึ่งกลางระหว่างผ้าเบรคแบบซินเทอร์และผ้าเบรคแบบออร์แกนิก คือระยะเบรคสั้น ระบายความร้อนได้ ทนความร้อนได้ดีกว่าผ้าเบรคแบบออร์แกนิก ทำงานเงียบกว่าผ้าเบรคทั้งสองแบบ มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่กินจานเบรก ส่วนข้อเสียหลักๆ คือเรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูงนั่นเอง
นี่ก็คือเกร็ดความรู้เรื่องผ้าเบรครถมอเตอร์ไซค์ที่เรานำมาฝาก เบื้องต้นหวังว่าทุกคนคงเลือกใช้ผ้าเบรคที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์การขับขี่และรถมอเตอร์ไซค์ของตัวเองกันได้แล้ว แต่หากยังไม่มั่นใจควรปรึกษาช่างเทคนิคที่ชำนาญจะดีที่สุด เพราะหากเลือกผ้าเบรคผิดนอกจากจะสิ้นเปลืองเนื่องจากผ้าเบรคกัดจานเบรกจนเสียหาย หรือหมดเร็วแล้ว อาจทำให้เกิดอันตรายได้อีกด้วย
#yamaha
#ถาวรชัยภูมิ
#เร่งชีวิตสู่ความเป็นหนึ่ง
#บริการทุกระดับประทับใจ
#yamahaถาวรชัยภูมิ